วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565

"ยาฆ่าเชื้อ" กินอย่างไรให้ถูกวิธี ลดเสี่ยงอันตราย-ดื้อยา

 ยาฆ่าเชื้อ มักถูกทำมากินในหลายๆ โอกาส ทั้งๆ ที่ในหลายๆ ครั้ง อาจไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษา แถมยังกินผิดวิธีอีกด้วย ทำให้เสี่ยงอันตราย และอาจเพิ่มความเสี่ยงดื้อยาด้วย


ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ประจำสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (antibiotic) เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส แก้อาการอักเสบหรือแก้ปวดได้เหมือนการกินยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดังนั้นยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบจึงไม่ใช่ยาตัวเดียวกัน


"ยาฆ่าเชื้อ" กินอย่างไรให้ถูกวิธี ลดเสี่ยงอันตราย-ดื้อยา

1. ไม่กินยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น

ยาฆ่าเชื้อ ควรกินต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ต้องมีเชื้อโรคเชื้อแบคทีเรียให้ฆ่า โดยเป็นการพิจารณาจากแพทย์ หากมีอาการเจ็บคอจากหวัด ซึ่งหวัดมักเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ เพราะอาการเจ็บคอสามารถหายได้เองตามอาการของโรคที่จะค่อยๆ ดีขึ้น


2. ไม่เพิ่มความแรงของยาฆ่าเชื้อด้วยตัวเอง

ความแรงของยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรเพิ่มเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงเชื้อโรคดื้อยาโดยไม่จำเป็น แล้วเราจะต้องการยาที่แรงขึ้นเรื่อยๆ แพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก


3. ไม่กินยาฆ่าเชื้อที่เหลือจากของเก่า

จริงๆ แล้วยาฆ่าเชื้อเป็นยาที่ต้องกินให้หมดตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการดื้อยังในภายหลัง แต่ในบางคนที่แอบเหลือยาเอาไว้ ไม่กินต่อเพราะคิดว่าตัวเองหายแล้ว เมื่อมีอาการใดๆ เลยหยิบยาที่เหลือมากิน แต่การติดเชื้อแต่ละครั้งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียเสมอไป และหากติดเชื้อที่อวัยวะแตกต่างกัน เช่น เคยกินยาฆ่าเชื้อที่คอ จะเอายาที่กินเหลือมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่น


4. ไม่กินยาฆ่าเชื้อ แบบแกะแคปซูลละลายน้ำ

ตัวยาที่ถูกบรรจุในรูปแบบของแคปซูล จะถูกชั่งวัดตวงมาเรียบร้อยแล้ว การแกะแคปซูลไปละลายน้ำ ทำให้ตัวยาบางส่วนติดอยู่ตามก้นของแคปซูล ทำให้ร่างกายรับยาไม่ครบ นอกจากนี้ ยาในรูปแบบแคปซูลถูกออกแบบมาเพื่อให้ตัวยาสามารถไหลผ่านกรดในกระเพาะ ผ่านน้ำย่อยในลำไส้ส่วนต้นแล้วให้ยาไปสลายตัวและดูดซึมตรงลำไส้ การปลดแคปซูลออกก่อน จะทำให้ตัวยาถูกสลายหรืออาจรบกวนจากน้ำย่อย นอกจากจะไม่ทำให้การรักษาไวขึ้น หรือไม่ต่างกัน อาจส่งผลแย่กว่าการกลืนแคปซูลแบบปกติ


5. กินยาฆ่าเชื้อ ต่อเมื่อแพทย์สั่งยาให้เท่านั้น

การติดเชื้อของเราในแต่ละครั้ง อาจเป็นเชื้อที่ต่างกัน ดังนั้นไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อกินเอง รวมถึงปริมาณที่กิน ก็ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เช่นกัน ควรรับประทานตามฉลาก ตามคำแนะนำ และต้องรับประทานยาติดต่อกันจนหมดและต่อเนื่อง หากรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง เพราะคิดว่าหายดีแล้วและหยุดยาเอง จะทำให้ร่างกายสะสมเชื้อดื้อยา ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะเสี่ยงเป็นโรคเชื้อดื้อยา และอาจเจ็บป่วยรุนแรงกว่าเดิม


Cr.sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น